โลโก้เว็บไซต์ ❝ราชมงคลล้านนา❞ ผนึกกำลัง 7 เครือข่ายรัฐ – เอกชน พิทักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำบ้านทุ่งยาว ปราการธรรมชาติแห่งดอยสะเก็ด บนพื้นที่กว่า 2,307 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3   | สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร

❝ราชมงคลล้านนา❞ ผนึกกำลัง 7 เครือข่ายรัฐ – เอกชน พิทักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำบ้านทุ่งยาว ปราการธรรมชาติแห่งดอยสะเก็ด บนพื้นที่กว่า 2,307 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3  

เผยแพร่เมื่อ : อาทิตย์ 18 สิงหาคม 2567 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 5538 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

วันที่ 16 สิงหาคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.อุเทน คำน่าน รักษาราชการอธิการบดี มอบหมายให้ ดร. ปวียา รักนิ่ม ผู้ช่วยอธิการบดีด้านการกำกับดูแลการร่วมบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน นำคณะผู้บริหารจากวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ ประกอบด้วย อาจารย์สิทธิศักดิ์ ยี่ยวน อาจารย์คทาชา ศรีฟ้าเลื่อน ตัวแทนคณาจารย์ ดร. รุ่งกานต์ ลีลาโสภาวุฒิ และ ดร. อดิศร โอดศรี พร้อมด้วยนักศึกษาจำนวน 30 คน เข้าร่วมกิจกรรมสืบชะตาป่า บวชป่า และปลูกบนพื้นที่ป่าชุมชนและป่าต้นบ้านทุ่งยาว อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ประจำปี 2567 ร่วมกับตัวแทนจากครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งประกอบด้วย

1.มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์

2.องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

3. บริษัท บางจาก จำกัด (มหาชน)

4. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

5. สถานีควบคุมไฟป่าห้วยฮ่องไคร้ - ขุนแม่กวง

6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

7. เทศบาลตำบลป่าป้องและประชาชนพี่น้อง ต. ป่าป้อง อ. ดอยสะเก็ด จ. เชียงใหม่

8. ประชาชนทั่วไป

เพื่อผนึกกำลังแสดงเจตนาอันแรงกล้าในการมุ่งอนุรักษ์ฟื้นฟูผืนป่าอันเป็นป้อมปราการธรรมชาติที่สำคัญยิ่งของอำเภอดอยสะเก็ดนอกจากนี้ยังเป็นการสืบสานประเพณีดั้งเดิมส่งทอดสืบกันมา ”รุ่นสู่รุ่น” โดยสะท้อนภาพฉายถึง “ความเป็นผืนป่าศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อเดิม” สู่รูปแบบ “เชิงคุณค่าและคุณูปการของผืนป่าต้นธารของการเป็นแหล่งต้นน้ำที่ให้อาหาร ให้ชีวิต และ ให้ความร่มเย็น” เพื่อปลุกจิตสำนึกชุมชนเกิดความรัก ความหวงแหนต่อป่าต้นน้ำบ้านทุ่งยาวให้ยังคงอยู่และแสดงภาพผลอันเป็นประโยชน์ต่อการมีลมหายใจอยู่ของชุมชนไปตราบนานเท่านาน

อนึ่ง โครงการดังกล่าวริเริ่มโดยดำริของผู้นำชุมชนและต่อมาจึงได้ขยายผลทางความร่วมมือออกไปอย่างกว้างขวางมีทั้งการสนับสนุนงบประมาณกว่าปีละ 500,000 บาท ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปีพุทธศักราช 2565 จนถึงปีปัจจุบันซึ่งนับเป็นปีที่ ๓ ตลอดมาได้มีการจัดโครงการและการดำเนินกิจกรรมย่อยต่าง ๆ อย่างหลากหมายเพื่อการอนุรักษ์ดูแลผืนป่าและต้นน้ำบ้านทุ่งยาวที่ครองพื้นที่กว่า 2,307 ไร่ นี้ อาทิ กิจกรรมทำแนวกันไฟบริเวณเขตป่าชุมชน กิจกรรมชิงเก็บลดเผาโดยทำเสวียนกักเก็บใบไม้ในป่าชุมชน การจัดชุดลาดตระเวน - เฝ้าระวังไฟป่า และดับไฟป่า  กิจกรรมซ่อมแซมฝายชะลอน้ำและทำฝายชะลอน้ำเพิ่มเติม รวมถึงกิจกรรมในครั้งนี้ซึ่งเป็นกิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำโดยการปลูกป่า และ พิธีสืบชะตาป่า ทั้งนี้ “การสืบชะตาป่า” เป็นพิธีการในความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนที่หมายจะสืบชีวิตของต้นไม้แต่ละต้น สายน้ำแต่ละธารที่ไหลอยู่ และสรรพชีวิตในผืนป่า ให้มีอายุคืนคงสมบูรณ์ตราบเท่าที่จะพึงมี และ พึงเป็น “หมายส่งทอดลมหายใจ และ ชีวิตทั้งหลาย สู่ผู้คนในยุครุ่นต่อไปอย่างบริบูรณ์เป็นที่สุด”

          โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำบ้านทุ่งยาวนี้ มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติหลายประการ ได้แก่: เป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: โครงการนี้ช่วยในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ซึ่งเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญ เป้าหมายที่ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก: การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศบนบก

เป้าหมายที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล: การดูแลป่าต้นน้ำช่วยรักษาแหล่งน้ำสะอาดสำหรับชุมชน เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน: โครงการนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ โครงการยังมีส่วนสนับสนุนเป้าหมายที่ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน และเป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม ผ่านการสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของนักศึกษาในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับโลกอีกด้วย


 







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon