โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา–บพท. ร่วมขับเคลื่อนงานวิจัยเทคโนโลยียกระดับเศรษฐกิจฐานราก หวังลดหนี้ครัวเรือนในพื้นที่ภาคเหนือ | สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร

มทร.ล้านนา–บพท. ร่วมขับเคลื่อนงานวิจัยเทคโนโลยียกระดับเศรษฐกิจฐานราก หวังลดหนี้ครัวเรือนในพื้นที่ภาคเหนือ

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 14 พฤษภาคม 2568 โดย ณิชกมล โพธิ์แก้ว จำนวนผู้เข้าชม 35 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เดินหน้าขับเคลื่อนงานวิจัยการขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและลดปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยจัดกิจกรรมประเมินและติดตามพื้นที่วิจัย ระหว่างวันที่ 8–9 พฤษภาคม 2568 นำโดย ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย ผศ.นพพร พัชรประกิติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ล้านนา พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี ร่วมติดตามและให้ข้อเสนอแนะแก่โครงการ ภายใต้แผนงานฯ

แผนงานวิจัย ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินและติดตามความก้าวหน้าโครงการวิจัย ให้ข้อเสนอแนะและแนวทางในการดำเนินการวิจัย เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ บรรลุตาม KR ของแหล่งทุนวิจัย ได้แก่

  1. รองศาสตราจารย์ พีรเดช ทองอำไพ  ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาประเมิน และติดตาม แผนงานวิจัย
  2. ศาสตราจารย์นภัทร วัจนเทพินทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี
  3. คุณเบญจมาศ ตีระมาศวณิช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการงานวิจัยเชิงพื้น
  4. รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต กฤตาคม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี
  5. ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี
  6. นายบรรจง นฤพรเมธี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีและนวัตกรรม

พร้อมด้วยทีมบริหารจัดการกลางแผนงานวิจัย ได้แก่

  1. ดร.อนิวรรต หาสุข ผู้ช่วยอธิการบดี มทร.อีสาน
  2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพพร พัชรประกิติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ล้านนา
  3. นายอุกฤษฎ์ ชำมริ คณะเกษตรศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย

ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องประชุมศรีสัชนาลัย โรงแรมเชียงใหม่คุ้มภูคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการจัดนิทรรศการนำเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัยจากภาคเหนือจำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย

  • โครงการที่ 1 กระบวนการมีส่วนร่วมประยุกต์ใช้และขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อยกระดับมูลค่าเพิ่มบนห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรและสร้างเครือข่ายธุรกิจยั่งยืนในจังหวัดลำปางและจังหวัดเชียงใหม่ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สันติ ช่างเจรจา
  • โครงการที่ 2 การขยายผลวิจัยเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตอาหารสร้างสรรค์เชิงพาณิชย์เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรแปรรูปและเศรษฐกิจฐานรากแก่วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรณพ ทัศนอุดม
  • โครงการที่ 3 การยกระดับกระบวนการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์เกษตร อาหาร สมุนไพร สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มแม่บ้าน ในจังหวัดเชียงรายโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เครื่องอบลมร้อนแบบอัจฉริยะ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ปงลังกา
  • โครงการที่ 4 การขยายผลเทคโนโลยีพร้อมใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตโกโก้ให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการโกโก้ในภาคเหนือของประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชินานาฏ วิทยาประภากร
  • โครงการที่ 5 การพัฒนาความสามารถผู้ประกอบการกาแฟลําปาง เชียงราย ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์กนกวรรณ เวชกามา

โดย ผศ.สมเกียรติ พงษ์วาณิช รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มทร.ล้านนา ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน

ผลของการจัดกิจกรรมไม่เพียงเป็นเวทีในการสะท้อนผลลัพธ์ของการดำเนินงานเท่านั้น แต่ยังเปิดพื้นที่ให้ผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ข้อเสนอแนะในประเด็นการปรับปรุงพัฒนา และแนวทางการขยายผลเทคโนโลยีให้เกิดผลกระทบในระดับชุมชน เกิดข้อแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดแนวทางการต่อยอด เช่น การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ และการขยายเครือข่ายความร่วมมือในระดับพื้นที่ ซึ่งนับว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และช่วยให้นักวิจัยสามารถปรับแนวทางเพื่อให้สอดรับกับบริบทของชุมชนเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น

ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2568 คณะได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของ “การขยายผลเทคโนโลยีพร้อมใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตโกโก้ให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการโกโก้ในภาคเหนือของประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ โกโก้ดอย ศูนย์เรียนรู้แปรรูปโกโก้ ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งดำเนินการโดย ผศ.ดร.ชินานาฏ วิทยาประภากร โดยมีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ให้เกษตรกร และพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือของผู้ประกอบการโกโก้ในภาคเหนือ

ผลสำเร็จที่โดดเด่นของโครงการ คือการเกิด “เครือข่ายโกโก้รินใจ” ซึ่งเป็นผลจากกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีควบคู่กับการปฏิบัติจริงในพื้นที่ ทำให้กลุ่มเกษตรกรที่เคยทำงานอย่างโดดเดี่ยว เริ่มรวมตัว แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน นำไปสู่ความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ผลิต และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในระดับชุมชน

นอกจากการเพิ่มศักยภาพในการผลิตแล้ว เครือข่ายนี้ยังกลายเป็นพื้นที่แห่งความไว้วางใจ ความหวัง และการเติบโตทางธุรกิจร่วมกัน ช่วยลดข้อผิดพลาดซ้ำเดิมและเพิ่มโอกาสพัฒนาองค์ความรู้ไปพร้อมกัน เกิดจิตสำนึกในการสร้างธุรกิจแบบมีส่วนร่วม เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม

กิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนงานวิจัยที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในภาคเหนือ ที่เผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งการขยายผลเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยสร้างรายได้และความยั่งยืนให้กับฐานรากของสังคมไทย


ขอบคุณ ภาพ/ข่าว นายสุริยนต์ สูงคำ







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon