โลโก้เว็บไซต์ กิจกรรมการถอดบทเรียน

กิจกรรมการถอดบทเรียน "ชุมชนนวัตกรรม สู่สังคมนวัตกรรม"

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 16 มิถุนายน 2564 โดย ชูขวัญ แสงทอง จำนวนผู้เข้าชม 747 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 นางสาวตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง เป็นประธานในพิธีเปิดเวทีการถอดบทเรียนชุมชนนวัตกรรมสู่ "สังคมนวัตกรรม" เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจังหวัดลำปางและจังหวัดตาก ภายใต้โครงการวิจัย "การเพิ่มประสิทธิภาพมาตรฐานการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรวิถีชุมชนจังหวัดลำปางและจังหวัดตากด้วยนวัตกรรม" ณ โรงเรียนแม่สุกศึกษา ตำบลแม่สุก อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง โดยมีคณะอาจารย์ของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดลำปาง เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมการถอดบทเรียน

โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการวิจัย เรื่อง "การเพิ่มประสิทธิภาพมาตรฐานการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรวิถีชุมชนจังหวัดลำปางและจังหวัดตากด้วยนวัตกรรม" ภายใต้แผนงานสำคัญ (Flagship) ของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาวิถีเกษตรชุมชน สร้างระบบคิดของชาวบ้าน สร้างพื้นที่การเรียนรู้ และบ่มเพาะศักยภาพการผลิตด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนเดิมของเกษตรกรในจังหวัดลำปางและจังหวัดตาก โดยในส่วนของจังหวัดลำปางขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงพื้นที่นำร่องเลือกตัวแทน 1 หมู่บ้านในทุกตำบลของอำเภอแจ้ห่ม

นายก อบจ.ลำปาง กล่าวว่า การดำเนินงานในพื้นที่อำเภอแจ้ห่มถือได้ว่าเป็นโครงการต้นแบบ โดยสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สามารถขยายผลไปยังอำเภออื่น ๆ ของจังหวัดลำปาง ในขณะที่ อบจ.ลำปางก็มีนโยบายที่จะพัฒนาเกษตรปลอดภัยโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก และเพิ่มมูลค่าผลผลิต รวมทั้งการพัฒนาสินค้าชุมชนเข้าสู่ตลาด สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาศักยภาพกลุ่มวิสาหกิจเกษตรแปรรูป โดยมุ่งหวังให้ประชาชนในทุกพื้นที่มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

โอกาสนี้ได้มอบเกียรติบัตรแก่ผู้ร่วมกิจกรรม ปลูกต้นไม้ เจิมป้ายอาคารสถานที่ผลิตและคัดเลือกบรรจุภัณฑ์อาหารฟาร์มมีสุก และเก็บเห็ด ภายใน “ฟาร์มเห็ดมีสุก”.







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา