โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ร่วมมือกับ มรภ.ลำปาง และภาคีเครือข่ายอำเภอแม่เมาะ ประชุมเพื่อขับเคลื่อนโครงการวิจัยแก้ไขปัญหาในครัวเรือนคนจนเป้าหมายในอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง | สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร

มทร.ล้านนา ร่วมมือกับ มรภ.ลำปาง และภาคีเครือข่ายอำเภอแม่เมาะ ประชุมเพื่อขับเคลื่อนโครงการวิจัยแก้ไขปัญหาในครัวเรือนคนจนเป้าหมายในอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 2 พฤษภาคม 2566 โดย ณิชกมล โพธิ์แก้ว จำนวนผู้เข้าชม 3405 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

มทร.ล้านนา ร่วมมือกับ มรภ.ลำปาง และภาคีเครือข่ายอำเภอแม่เมาะ ประชุมเพื่อขับเคลื่อนโครงการวิจัยแก้ไขปัญหาในครัวเรือนคนจนเป้าหมายในอำเภอแม่เมาะ  จังหวัดลำปาง

วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๖ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร พัชรประกิติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมด้วยทีมวิจัยโครงการ “กระบวนการมีส่วนร่วมยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อสร้างโอกาสและคุณค่าร่วมทางสังคมของคนจนเป้าหมายพื้นที่วิจัยจังหวัดลำปาง” จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารและนักวิจัยจาก “โครงการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคมพื้นที่จังหวัดลำปาง (ปีที่ ๓)” มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง  โดยมี “นายพนมพร ตุ้ยกาศ” นายอำเภอแม่เมาะ เป็นประธานในที่ประชุม  ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

ในที่ประชุมหัวหน้าโครงการจาก มรภ.ลำปาง ได้นำเสนอต่อถึงประชุมถึงการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในคนจนเป้าหมายจังหวัดลำปาง ๒ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอำเภอแม่เมาะนั้นพบว่าในปี ๖๕ มีข้อมูลครัวเรือนยากจนทั้ง ๕ ตำบล มีคนจนเป้าหมาย ๕๒๑ ครัวเรือน จำนวน ๑,๗๐๘ คน โดยเมื่อเทียบกับฐานข้อมูลมาตรฐานศักยภาพทุนทั้ง ๕ มิติ นั้นพบว่า ทุนสังคม (การรวมกลุ่ม ฯลฯ) ทุนธรรมชาติ (คนจนไม่ได้ใช้ทุนทางธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่) ทุนเศรษฐกิจ (มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ) ยังต่ำกว่ามาตรฐาน ในขณะที่ ทุนกายภาพ พบว่ายังอยู่ในโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างดี และ ทุนมนุษย์ คนจนเป้าหมายอำเภอแม่เมาะยังมีองค์ความรู้ทักษะที่เพื่อการหลุดพ้นนั้นยังต้องการการหนุนเสริม

ทั้งนี้ นายพนมพร ตุ้ยกาศ นายอำเภอแม่เมาะ ได้ให้ข้อเสนอต่อที่ประชุมว่าให้มีการคลี่ภาพระดับครัวเรือน รายชื่อ ทั้ง ๕ ตำบล ให้มีตรวจสอบทานข้อมูลอีกครั้งเพื่อให้การทำงานบรรลุเป้าหมายที่แท้จริง

โครงการได้จำแนกกลุ่มคนจนเป้าหมายออกเป็น ๔ กลุ่มหลักคือ อยู่ลำบาก อยู่ยาก อยู่พอได้ และ อยู่ดี ซึ่งการออกแบบดังกล่าวจะนำไปสู่การทำ Operating Model เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย หาก “อยู่ลำบาก” “อยู่ยาก” สิ่งแรกที่จะทำคือการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน  ในขณะที่ “อยู่พอได้” นอกจากลดรายจ่ายแล้ว จะส่งเสริมให้เกิดกระบวนการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่เพื่อสร้างมูลค่าทางการตลาด ส่งเสริมการตลาดอย่างไร สุดท้ายกลุ่ม “อยู่ดี” นั้น จะเชื่อมกับสถานประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการเชื่อมกัน พัฒนากลไกการเชื่อมประสาน เอาคนจนเป้าหมายมาอยู่ในห่วงโซ่การผลิต

สำหรับการส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรนั้น ทางเกษตรอำเภอได้เสนอว่าควรคำนึงถึงบริบท การส่งเสริมพืชที่มีระยะเวลายาวนั้นจะส่งผลให้เกิดช่องว่างทางรายได้ระหว่างรอผลผลิต จึงจำเป็นที่จะต้องคำนึงพืชระยะสั้นที่สามารถสร้างรายได้ คณะทำงานจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์พร้อมศักยภาพของคนจนเป้าหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่ในสิ่งที่จะดำเนินงาน

พร้อมกันนี้ในที่ประชุมให้มีการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน โดยใช้โครงสร้าง ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) อำเภอแม่เมาะ แล้วเพิ่ม มรภ.ลำปาง และ มทร.ลำปาง พร้อมบทบาทหน้าที่ของแต่ละภาคส่วนเข้าไป โดย มทร.ล้านนาได้เสนอให้คำนึงถึงหน่วยงาน ภาคีเครือข่ายที่ที่เกี่ยวข้องในการเสริมทุนทั้ง ๕ ด้าน เพื่อให้ได้ทั้งผลประโยชน์ (ในระดับหน่วยงานนั้นจะได้) และประโยชน์ (ที่คนจนจะได้) เช่น ทุนทางสังคม อาจจะต้องมีผู้นำศาสนาในพื้นที่ ผู้นำชุมชน เป็นต้น เข้ามาร่วมด้วย

การประชุมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบอุดหนุนการวิจัยจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

 


ภาพ/ข่าว นายสุริยนต์ สูงคำ


คลังรูปภาพ : 2566-05-01






ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon